ระเบียบข้อบังคับสมาคมฯ

ระเบียบข้อบังคับสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนรังษีวิทยา

หมวด 1 ชื่อและที่ตั้งสำนักงาน

ข้อ 1      สมาคมนี้ชื่อว่า “ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนรังษีวิทยา “ เป็นภาษาอังกฤษว่า

THE PARENTS AND TEACHERS ASSOCIATION OF RANGSEE VITTAYA SCHOOL

ข้อ 2      สำนักงานของสมาคมฯตั้งอยู่ ณ โรงเรียนรังษีวิทยา  เลขที่  262  ถนนโชตนา  ตำบลเวียง  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่  50110

 

หมวด 2 เครื่องหมายของสมาคมฯ

  • เป็นรูปดาว 8 แฉก โดยมีอักษรในรูปดาวว่า สมาคมผู้ปกครองและครูอยู่ด้านบน  มีช่อมะกอกอยู่ด้าน ๆ ข้างละ 1 ช่อ  ภายในมีวงกลมล้อมรอบ ไม้กางเขน พระคัมภีร์ และอักษรย่อ   “ร ว”  มีรัศมีโดยรอบ
  • โรงเรียนรังษีวิทยา
  • ปรัชญาโรงเรียน สุขภาพดี  มีปัญญา  ศรัทธามั่น  หมั่นบริการ
  • คศ.  2002  เป็น คศ.ที่สมาคมก่อตั้งขึ้นมา

หมวด 3 วัตถุประสงค์

ข้อ 4 สมาคมฯมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ดังนี้

  1. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ผู้ปกครองนักเรียน ครู และโรงเรียน
  2. เพื่อช่วยเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียนด้านต่างๆ
  3. เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนส่งเสริมการให้การอบรมและการศึกษาให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
  4. เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ในการป้องกันและแก้ไข
  5. ร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาล องค์การ สมาคม หรือคณะบุคคล ในอันที่จะส่งเสริมให้เยาวชนมีความประพฤติ ความรู้ พลานามัยสมบูรณ์ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
  6. เพื่อส่งเสริมสวัสดิการของนักเรียน และผู้ปกครองของนักเรียน
  7. สมาคมฯไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด และไม่ให้มีการจัดเล่นการพนันในสมาคมฯโดยเด็ดขาด

หมวด 4   สมาชิกภาพ

ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมฯมี 2 ประเภท  คือ

  1. สมาชิกกิตติมศักดิ์
  2. สมาชิกสามัญ

ข้อ 6 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ ผู้มีอุปการะ คุณต่อสมาคมฯ หรือต่อโรงเรียนรังษีวิทยา หรือเป็นผู้มีเกียรติคุณเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 7 สภาพการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ผู้รับเชิญได้ตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. เป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองของนักเรียนรังษีวิทยา
  2. เป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้ที่เคยเป็นนักเรียนรังษีวิทยา
  3. เคยเป็นบุคลากรของโรงเรียนรังษีวิทยา
  4. เป็นบุคคลผู้มีความปรารถนาดีต่อโรงเรียน

ข้อ 8 สภาพการเป็นสมาชิกสามัญ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. เป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ของนักเรียนโรงเรียนรังษีวิทยา
  2. ปัจจุบันเป็นครู อาจารย์ของโรงเรียนรังษีวิทยา

ข้อ 9 ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนรังษีวิทยาทุกคนเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนรังษีวิทยา  โดยไม่ต้องสมัคร

ข้อ 10    สภาพการเป็นสมาชิกสามัญ เริ่มตั้งแต่ได้ชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงตามที่กำหนดไว้

ข้อ 11    สมาชิกภาพ ของสมาชิกสิ้นสุดเมื่อ

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ขาดคุณสมบัติตามความในข้อ 8
  4. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  5. คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ลงมติให้พ้นจากความเป็นสมาชิกภาพในกรณีที่ปรากฎชัดแจ้งว่าได้ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาคมฯ หรือฝ่าฝืนข้องบังคับของสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มีมติให้ออก มติคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ถือเป็นที่สุด

ข้อ 12    เมื่อสมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุดลง ผู้นั้นจะยกเอาเหตุแห่งการนั้นมาอ้าง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากสมาคมฯ หรือจากคณะกรรมการบริหารไม่ได้

ข้อ 13    ให้มีสมุดทะเบียนสมาชิกสมาคมฯ ไว้ลงทะเบียนสมาชิก โดยถูกต้องและให้เก็บรักษาไว้ ณ ที่สำนักงานของสมาคมฯ

 

หมวด 5 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงรักษา

ข้อ 14    สมาชิกกิตติมาศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง

  1. กรณีของผู้ปกครองนักเรียนและลุคลากรที่มีบุตรศึกษาในโรงเรียน ชำระค่าบำรุงสมาคมฯ ภาคเรียนละ – บาท ต่อบุตร 1 คน โดยชำระที่งานการเงินของโรงเรียน พร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมอื่นเพื่อพัฒนาการเรียน
  2. กรณีบุคลากรของโรงเรียนรังษีวิทยา ที่ไม่มีบุตรที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนรังษีวิทยา ให้ชำระค่าบำรุงเป็นภายภาคเรียน ๆ ละ 100.- บาท ต่อ คน

 

หมวด 6  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 16 สิทธิของสมาชิกโดยทั่วไปมีดังนี้

  1. ประดับเครื่องหมายของสมาคมฯ ในโอกาสอันสมควร
  2. ใช้สถานที่ของสมาคมฯ เข้าร่วมการทำงาน และได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
  3. ร่วมประชุมใหญ่ และเสนอความคิดเห็นต่อสมาคมฯ รวมทั้งสอบถามปัญหา และแถลงข้อข้องใจในกิจกรรมและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ
  4. เสนอบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯให้นำเข้าระเบียบวาระการประชุม เพื่อพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ต้องมีสมาชิกลงชื่อรับรองไว้ในบัญญัตินั้นด้วยไม่น้อยกว่า 5 คน
  5. เมื่อมีเหตุอันจำเป็นและสมควร สมาชิกรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน ทำหนังสือโดยลงลายมือชื่อรวมกันยื่นต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ให้เรียกประชุมใหญ่เป็นกรณีพิเศษได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลอันไม่ขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ไว้โดยแจ้งชัด
  6. ช่วยส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมของสมาคมฯให้ดำเนินไปสู่วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาคมฯ ตั้งอยู่ในความวัฒนาถาวรสืบไป
  7. มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เพื่อตรวจทะเบียน เอกสารบัญชีหรือทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 17    สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ในที่ประชุมใหญ่  มีดังนี้

  1. อภิปรายในประเด็นตามหัวข้อ ที่ปรากฏอยู่ในวาระของการประชุมใหญ่
  2. เสนอชื่อสมาชิก ให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารเมื่อมีการเลือกตั้ง
  3. รับรองการเสนอชื่อ  เพื่อรับเลือกเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ
  4. ออกเสียงและลงมติในที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งการเสนอให้ลงมติสมาชิก 1 คนมีสิทธิ์ลงคะแนน 1 เสียง ถ้าเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นชี้ขาด
  5. รับรองข้อเสนอที่สมาชิกอื่นเสนอ
  6. ขอเปลี่ยนระเบียบวาระของการประชุม โดยมีสมาชิกอื่นรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน

หมวด 7 การประชุมใหญ่และการบริหารงานสมาคมฯ

ข้อ 18    ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จัดให้มีการประชุมสามัญปีละ 1 ครั้งเพื่อแถลงกิจการของสมาคมฯให้สมาชิกได้ทราบในการประชุมองค์ใหญ่องค์ประชุมต้องประกอบด้วยสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100 คน ถ้าไม่ครบองค์องค์ประชุมก็นัดใหม่อีกครั้ง ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ การนัดประชุมใหญ่นั้นเลขานุการต้องทำหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน และประกาศไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ ด้วย

หมวด 8 การบริหารงานของสมาคมฯ

ข้อ 19  สมาคมฯ มีข้อบังคับและวิธีบริหารงานดังต่อไปนี้

  1. สมาคมฯ จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ภายในการดำเนินการของคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการบริหาร  ประกอบด้วย นายก  อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม     ผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนทุกฝ่าย ตลอดจนผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนเป็นกรรมการ คณะกรรมการไม่น้อยกว่า 30 คน และไม่เกิน 35 คน
    1.1 นายกฯ มีหน้าที่บริหารกิจการตามข้อบังคับ วัตถุประสงค์ นโยบาย และข้อบังคับของสมาคมเป็นประธานในการประชุม   เป็นผู้ลงนามแทนสมาคมฯ
    1.2 อุปนายก มี  2  คน  ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นอุปนายกคนที่ 1 โดยตำแหน่ง   มีหน้าที่ช่วยเหลือและทำการแทนนายกในขณะที่นายกไม่อยู่หรือได้รับการมอบหมาย    1.3 เลขานุการ  มีหน้าที่ดำเนินงานของสมาคมฯให้เป็นไปตามข้อบังคับและคำสั่งของนายกเตรระเบียบวาระการประชุม ปฏิบัติงานสารบรรณและงานที่มิได้กำหนดให้อยู่ใน         ตำแหน่งที่ได้หรือยังมิได้ตั้งกรรมการบริหารผู้ใดให้ปฏิบัติ
    1.4 เหรัญญิก      มีหน้าที่รับเงินและเก็บรักษาการเบิกจ่าย การบัญชี และทรัพย์สินของสมาคมฯ
    1.5 นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิก
    1.6 ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับสมาชิกและผู้มาเยือน รักษา ดูแล และจัดสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการต้อนรับสมาชิก
    1.7 ประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่จัดหาและรักษาหนังสือทำระเบียบการห้องสมุด จัดทำประวัติของสมาคมทำวารสาร  เผยแพร่ความรู้และกิจกรรมทั่วไปของสมาคม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์
  2. กรรมการ เจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งมีสิทธิ์ตั้งกรรมการผู้ช่วยได้ตามความเป็นจำเป็น
  3. การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารจะต้องเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ โดยให้ที่ประชุมใหญ่เสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม จำนวน 3-5 คน แต่ละคน จะต้องมีสมาชิกยกมือรับรองไม่น้อยกว่า 5 คนแล้วในสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ลงคะแนนเลือกนายกสมาคมฯ ตามมติที่ประชุมจะให้ลงคะแนนลับหรือเปิดเผยบุคคลที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมฯ
  4. คณะกรรมการบริหารนี้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี เมื่อกรรมการชุดเดิมออก ตามวาระจะต้องดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทันที
  5. สมาคมฯย่อมเชิญข้าราชการผู้ทรงเกียรติ และผู้ทรงคุณวุฒิ คหบดี พ่อค้า มาเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ และให้ตำแหน่งคราวละ 2 ปี เท่ากับอายุการอยู่ในตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารคราวนั้น กรรมการแต่ละตำแหน่งอาจจะได้รับเลือกอีกได้ แต่ต้องไม่อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเป็นสองวาระ
  6. คณะกรรมการบริการทีสิทธิที่จะวางระเบียบในการปฏิบัติงานใดๆ ตามแต่จะเห็นสมควร และมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการประจำกิจกรรมนั้นๆ เพื่อบริหารให้เป็นไปตามจุดประสงค์
  7. การออกจากตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร
    ก. ถึงคราวออกตามวาระของคณะกรรมการบริหาร
    ข. ลาออกโดยลายลักษณ์อักษร
    ค. ที่ประชุมใหญ่มีมติถอดหรือไม่ไว้วางใจ
    ง. ขาดสมาชิกภาพตามข้อ 11
  8. ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ
    ก. ให้เป็นหน้าที่ของนายกสมาคมฯ พิจารณาแต่งตั้งสมาชิกสามัญผู้หนึ่งผู้ใดเข้าตำแหน่งแทน
    ข. ในกรณีที่ตำแหน่งนายกว่างลงให้อุปนายกดำรงตำแหน่งแทน และมีอำนาจแต่งตั้งอุปนายกสมาคมแทนตนเองได้
    ค. ถ้าว่างลงทั้งสองตำแหน่ง ให้เลขานุการสมาคมฯ เชิญสมาชิกประชุมใหญ่ และที่ประชุมแล้วออกเสียงเลือกตั้งนายสมาคมและอุปนายกสมาคมฯ ขึ้นใหม่

         การประชุม และองค์ประชุมของคณะกรรมการบริหาร

  1. ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯปกติ 2 เดือนต่อครั้ง โดนให้นายกเป็นผู้กำหนดและให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้กรรมการทราบ วัน เวลา และสถานที่ พร้อมทั้งแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน
  2. การประชุมของคณะกรรมการบริหารต้องมีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมเกินครึ่ง ของคณะกรรมการบริหารทั้งหมดจึงถือว่าเป็นองค์ประชุม เพื่อบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯได้

กรรมการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมได้คนละ1 เสียง ถ้าเสียงเท่ากันให้นายกซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงได้อีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด

 

หมวด 9 การเงิน

ข้อ 20    เงินรายได้ของสมาคมฯ ต้องฝากไว้ในธนาคารในนามของสมาคมฯ เหรัญญิกจะเก็บรักษาไว้ได้ไม่เกิน 5,000 บาท

ข้อ 21    การเบิกเงินจากธนาคารต้องมีลายมือชื่อนายก เลขานุการกับเหรัญญิก ลงลายชื่อร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขลงชื่อ 2 ใน 3

ข้อ 22    ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเลขานุการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมนไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท นายกไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในกิจกรรมหนึ่ง แล้วให้เสนอที่ประชุม คณะกรรมการบริหาร เพื่อทราบในโอกาสแรก วงเงินกว่านั้นต้องได้รับอนุมัติจ่ายโดนมติของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 23    ให้ที่ประชุมใหญ่ตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี สำหรับตรวจแต่ละปีและให้กรรมการบริหารรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของสมาคม อำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจสอบบัญชี ตลอดจนหลักฐานเกี่ยวกับการเงิน และเงินสด เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบนั้นด้วย การตรวจสอบบัญชี ให้ลงลายมือชื่อรับรอง เพื่อเสนอในที่ประชุมใหญ่ในปีต่อไปด้วย

 

หมวด 10           การเลิกสมาคม

ข้อ 24    เมื่อที่ประชุมใหญ่มีความเห็นให้เลิกสมาคมฯโดยเสียงที่ให้เลิก ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุมนั้น

ข้อ 25    เมื่อสมาคมฯ ต้องเลิก ไม่ว่าโดยมติของที่ประชุมใหญ่หรือจะโดยประการอื่นใดก็ตามให้ทรัพย์สินของสมาคมฯที่เหลืออยู่หลังจากชำระบัญชีแล้ว ทรัพย์สินมอบให้มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย โดยโรงเรียนรังษีวิทยา  เป็นผู้รับผลประโยชน์

 

หมวด 11           บทเฉพาะกาล

ข้อ 26    ให้กรรมการผู้เริ่มจัดตั้งสมาคมนี้ เป็นกรรมการบริหารของสมาคมฯ นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับ และมีอำนาจหน้าที่ตามระบุไว้ในข้อบังคับ

ข้อ 27    ให้กรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมฯ นี้จัดให้มีการประชุมใหญ่ครั้งแรกขึ้นภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับนี้

 

ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่ วันที่  15  เดือน กันยายน  พ.ศ.2552  เป็นต้นไป

 

ลงชื่อ…………………………………………….

( นายประสาน   ท่าข้าม )

นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนรังษีวิทยา

ผู้จัดทำข้อบังคับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนรังษีวิทยา